วันอังคารที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

แหล่พรลา ต่างๆ

นับตั้งแต่ได้ฟังเทศน์มหาชาติมา สิ่งที่เราซึ่งเป็นผู้รอคอยจากพระเทศน์ก็คือ แหล่พร แหล่พรมีทั้ง พรประหน้าธรรมาสน์ และพรลา เพราะนอกจากจะได้ฟังน้ำเสียงแล้วยังเป็นกำลังใจให้อยากฟังต่อไป และยังรอว่า เมื่อเทศน์มหาชาติจบแล้ว พระเทศน์จะแหล่ลา ซึ่งเราก็ชอบอีก บางทีในช่วงกลางไม่ค่อยได้ฟัง รอฟังช่วงท้าย ยิ่งถ้าพระเทศน์มี แหล่พบ-แหล่พร ที่แต่งมาใหม่ๆ มาแหล่ให้ฟังก็ยิ่งมีกำลังใจได้รับความสุข
มาในระยะหลังนี้ พบว่า แหล่พรประหน้าธรรมาสน์ และแหล่พรลา ไม่คอยมีพระเทศน์แต่งขึ้นใหม่ แหล่เก่าๆ ก็ซ้ำแล้วซ้ำอีก เหมือนผลไม้ที่ถูกบีบจนช้ำอย่างนั้น โยมผู้ฟังก็ออกจะรู้ และท่องได้เหมือนพระยถา-สัพพี ฯลฯ ความตั้งใจฟังเพื่อรั้งท้ายก็หมดไป พระเทศน์ที่ไม่ได้เรียนภาษาไทยให้มีพื้นพอสมควรก็ไม่ได้แต่งแหล่ขึ้นมาใหม่ เมื่อ ของเก่ากำลังหมด ของใหม่ไม่เกิดขึ้น ความนิยมในการฟังเทศน์มหาชาติก็จะพบกับความเสื่อมถอยในวันข้างหน้า
ในการเผยแพร่แหล่นี้ โดยปกติเขาไม่ค่อยเผยแพร่กัน มักเป็นของหวงเฉพาะ แหล่ลาส่วนใหญ่ลักจำกันมา แต่เมื่อนึกถึงเพลงแล้วไม่เห็นเขาหวงเนื้อกัน ส่วนพระรูปใดที่จะนำไปแหล่ก็เลือกตามความเหมาะสม ถ้าแหล่ไม่ได้จะพูดตามกลอนแหล่เป็นข้อคิด หรือตัดส่วนใดส่วนหนึ่งไว้ประสิทธิ์ประสาทพร การครองใจผู้ฟังจะเกิดแก่พระเทศน์รูปนั้นๆ ส่วนผู้อ่านซึ่งไม่ใช่พระเทศน์ก็อ่านได้ โดยคิดว่ารับพรจากพระ หรือจะตัดตอนไปสอนใครๆ ในฐานะผู้ใหญ่หรือครูอาจารย์จะทำให้จำง่ายน่าฟังขึ้น
ข้อแนะนำในการแหล่ ขอให้ฟังเพลงชุดเก่าๆ ของไวพจน์ เพชรสุพรรณ หรือชุดแหล่ชาดกของพร ภิรมย์ หรือทศพล หิมพานต์ ก็พอจะคลำทานองได้ แต่สำหรับพระให้ลากเสียงดึงจังหวะให้ยาวกว่าเพลงหน่อยก็จะเพราะดี